บทความ

สาระความรู้ด้านการลงทุนที่หลากหลาย

วางแผนการลงทุนใน DW อย่างไรให้เหมาะกับภาวะตลาด

  • 21 ต.ค. 64
  • |
  • 488

หลังจากที่เราได้ทำความเข้าใจคำศัพท์และค่าทางเทคนิคแล้วทีนี้เราจะมาพูดถึงการวางแผนการลงทุนใน DW และการใช้ DW แต่ละประเภทให้เหมาะกับสภาวะตลาด

ขั้นตอนที่ 1: เลือกหุ้นที่ชอบ เลือกตัวที่ใช่

ขั้นตอนแรกของการวางแผนเพื่อการลงทุนใน DW ก็คือ “เลือกหุ้นที่ชอบ เลือกตัวที่ใช่” กันก่อน โดยการคัดเลือกสินทรัพย์อ้างอิงนั้น นักลงทุนสามารถใช้การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานเพื่อกำหนดมูลค่าพื้นฐาน (Intrinsic Value) หรือใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิคเพื่อกำหนดราคาเป้าหมาย (Target Price) ก็ได้ตามแต่ความถนัดหรือสไตล์การลงทุนของนักลงทุนแต่ละท่าน นอกจากนี้ การวางแผนการลงทุนใน DW นักลงทุนจะต้องคาดการณ์ ”ระยะเวลา” ที่ราคาหุ้นปัจจุบันจะปรับขึ้นหรือลดลงไปสู่ราคาเป้าหมายอีกด้วย เพราะหากระยะเวลาการลงทุนนานกว่าที่นักลงทุนคาด จะส่งผลต่อกำไร/ขาดทุนของนักลงทุน เนื่องจาก การถือ DW ในแต่ละวันนั้นจะมีต้นทุนการถือครองหรือ Time Decay นั่นเอง


ขั้นตอนที่ 2: เลือก DW ให้ถูกทาง

ขั้นตอนถัดมาก็คือ การเลือกประเภท DW ให้สอดคล้องกับการคาดการณ์ทิศทางราคาของสินทรัพย์อ้างอิง ซึ่งเราสามารถใช้ DW สร้างผลตอบแทนได้ในทุกสภาวะตลาดไม่ว่าจะเป็นขาขึ้น ขาลง หรือแม้แต่ขึ้นๆลงๆ… เราลองมาดูกันเลยนะครับว่าในแต่ละสถานการณ์เราควรใช้ DW ประเภทใด

  1. ซื้อ Call DW เมื่อคาดการณ์ว่าราคาสินทรัพย์อ้างอิงจะเพิ่มสูงขึ้น
    หากเราคาดการณ์ว่า หุ้น A จะมีราคาสูงขึ้น เนื่องจากกำลังจะมีข่าวดีที่ส่งผลบวกกับราคาหุ้น เช่น คาดว่าผลประกอบการประจำไตรมาสจะออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด หรือคาดว่าหุ้น A จะได้รับผลประโยชน์จากนโยบายที่รัฐบาลกำลังจะประกาศ สถานการณ์เช่นนี้ เราควรซื้อ Call DW ที่อ้างอิงกับหุ้น A เพราะโดยทั่วไปแล้วราคา Call DW จะปรับตัวขึ้นตามราคาสินทรัพย์อ้างอิงที่เพิ่มขึ้น
  2. ซื้อ Call DW เมื่อคาดการณ์ว่าราคาสินทรัพย์อ้างอิงจะเพิ่มสูงขึ้น
    หากเราคาดการณ์ว่า หุ้น A จะมีราคาสูงขึ้น เนื่องจากกำลังจะมีข่าวดีที่ส่งผลบวกกับราคาหุ้น เช่น คาดว่าผลประกอบการประจำไตรมาสจะออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด หรือคาดว่าหุ้น A จะได้รับผลประโยชน์จากนโยบายที่รัฐบาลกำลังจะประกาศ สถานการณ์เช่นนี้ เราควรซื้อ Call DW ที่อ้างอิงกับหุ้น A เพราะโดยทั่วไปแล้วราคา Call DW จะปรับตัวขึ้นตามราคาสินทรัพย์อ้างอิงที่เพิ่มขึ้น
  3. ซื้อ Put DW เมื่อคาดการณ์ว่าราคาสินทรัพย์อ้างอิงจะปรับลดลง
    ในทางตรงกันข้าม หากเราคาดการณ์ว่า หุ้น B จะมีราคาลดลงเนื่องจากปัจจัยลบ เช่น นักวิเคราะห์ปรับลดประมาณการผลกำไรของบริษัท เป็นต้น ในสถานการณ์นี้เราควรเลือกซื้อ Put DW ที่อ้างอิงกับหุ้น B เพราะโดยทั่วไปแล้วราคา Put DW จะปรับตัวขึ้นสวนทางราคาสินทรัพย์อ้างอิงที่ลดลง
  4. ใช้กลยุทธ์ Straddle เมื่อคาดว่าราคาสินทรัพย์อ้างอิงจะผันผวนมากๆ (ขึ้นแรงหรือลงแรง) แต่ไม่รู้ทิศทางว่าจะขึ้นหรือลง
    การสร้าง Straddle คือการซื้อ Call DW และ Put DW ที่มีสินทรัพย์อ้างอิงเดียวกัน, ราคาใช้สิทธิเท่ากัน, วันซื้อขายสุดท้ายเดียวกันและจำนวนสินทรัพย์อ้างอิงเท่ากัน โดยกลยุทธ์ Straddle สามารถสร้างกำไรได้ในกรณีที่คาดการณ์ว่าทิศทางราคาของสินทรัพย์อ้างอิงจะปรับขึ้นหรือลดลงมากๆ เช่น ในวันที่จะมีคำพิพากษาของศาลที่ในเรื่องที่จะกระทบปัจจัยพื้นฐานของบริษัทเป็นอย่างมาก แต่ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าศาลจะมีคำพิพากษาเป็นอย่างไร เป็นต้น กรณีที่ศาลมีคำพิพากษาเป็นประโยชน์ต่อบริษัทและราคาหุ้นของบริษัทปรับเพิ่มขึ้นมากๆ นักลงทุนจะได้กำไรจากส่วนของ Call DW มากกว่าผลขาดทุนจากการถือ Put DW หรือหากในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาที่ส่งผลลบกับบริษัทและราคาหุ้นของบริษัทปรับตัวลดลงมากๆ นักลงทุนก็จะได้ได้กำไรจาก Put DW มากกว่าผลขาดทุนจากการถือ Call DW นั่นเอง


    โดยมีข้อควรระวังคือ

    1. Straddle เป็นกลยุทธ์ที่เหมาะกับการลงทุนระยะสั้นเท่านั้น
      การทำ Straddle เป็นการเพิ่มความเสี่ยงด้านการเสื่อมค่าของราคา (Time decay) เป็นสองเท่า ซึ่งเป็นผลมาจากการถือ DW ทั้ง Call และ Put พร้อมกัน
    2. กลยุทธ์ Straddle จะให้ผลตอบแทนน้อยกว่าการซื้อ Call หรือ Put DW เพียงอย่างเดียว
      กลยุทธ์ Straddle จะมีความเสี่ยงต่ำกว่ากลยุทธ์ที่ซื้อ Call หรือ Put DW เพียงอย่างเดียวเนื่องจาก นักลงทุนจะได้กำไรจากกลยุทธ์ Straddle ไม่ว่าราคาสินทรัพย์อ้างอิงจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงหากราคาสินทรัพย์อ้างอิงนั้นมีความผันผวนมากพอ ในขณะที่การซื้อ Call หรือ Put DW เพียงอย่างเดียวจะมีความเสี่ยงสูงกว่าเพราะนักลงทุนจะขาดทุนทันทีหากทิศทางของราคาสินทรัพย์อ้างอิงไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์
    3. จำนวนหน่วยของสินทรัพย์อ้างอิงต้องเท่ากัน จำนวนหน่วยที่จะต้องซื้อ DW ทั้ง Call และ Put เมื่อหารอัตราใช้สิทธิ (จำนวน DW ต่อ 1 สินทรัพย์อ้างอิง) แล้วจะต้องได้เป็นจำนวนสินทรัพย์อ้างอิงที่เท่ากัน ตัวอย่างเช่น Call DW บนหุ้น A จำนวน 100,000 หน่วย มีอัตราใช้สิทธิ 50 DW ต่อ 1 หุ้น (จำนวนสินทรัพย์อ้างอิงเท่ากับ 2,000 หุ้น) ดังนั้น หากจะต้องซื้อ Put DW ที่มีอัตราใช้สิทธิเท่ากับ 100 DW ต่อ 1 หุ้น นักลงทุนจะต้องซื้อ Put DW จำนวน 200,000 หน่วย
    4. อยู่เฉยๆ หากคาดการณ์ไม่ถูก
      การลงทุนใน DW นั้นเหมาะในสภาวะที่ราคาสินทรัพย์อ้างอิงนั้นมีทิศทางราคาหรือ Trend ที่ชัดเจน โดยไม่ว่าจะเป็น Trend ระยะสั้น กลาง หรือยาว ก็จะมีประเภทของ DW ที่เหมาะสมในการใช้แตกต่างกันตามสถานะของ Moneyness* แต่เมื่อหากการคาดการณ์ทิศทางราคาสินทรัพย์อ้างอิงเป็นไปได้ยาก หรือไม่มี Trend ที่ชัดเจนแล้ว กลยุทธ์ที่เหมาะสม คือ ควรวางเฉยโดยถือเงินสดไว้ก่อน รอให้ตลาดมีความชัดเจนมากขึ้นแล้วจึงเข้าลงทุน 

      Tip: มีสูตรจำง่ายๆ คือ Call เมื่อขึ้น , Put เมื่อลง , วิ่งขึ้นวิ่งลง ใช้ Straddle แต่ถ้ามึนๆงงๆ ก็ไม่ต้องทำอะไร


      * Moneyness คือ สถานะของ DW ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 สถานะคือ In the money, At the money และ Out of the money (ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมในบทความที่ 2 คำศัพท์ง่ายๆ ที่ควรรู้กับการลงทุนใน Derivative Warrant)

 

ขั้นตอนที่ 3: เลือกรุ่น DW ที่ทั้งใช่และคุ้มจะได้ไม่ผิดหวัง

ขั้นตอนที่สาม คือการเลือก DW ที่เหมาะกับสไตล์การลงทุนของเราเอง ในตอนที่ 2 ที่ผ่านมาเราได้อธิบายกันถึงคำศัพท์ที่สำคัญต่อการซื้อขาย DW เช่น Effective Gearing, Time Decay, All-in Premium และ Implied Volatility เป็นต้น โดย DW ที่เหมาะกับนักลงทุนแบ่งตามระยะเวลาการลงทุน ได้แก่

  1. นักลงทุนระยะกลางถึงยาว (มากกว่า 2 อาทิตย์ขึ้นไป) - ควรเลือก DW ที่มีสถานะ In-the- money สูง และมี Time Decay ต่อวันต่ำ
  2. นักลงทุนระยะสั้นหรือเก็งกำไรระหว่างวัน (ไม่เกิน 3 วัน) - ควรเลือก DW ที่มีสถานะ Out-of-the-money และให้ Effective Gearing สูง ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบแล้วพบว่ามี DW ที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน (สินทรัพย์อ้างอิงเดียวกัน, ราคาใช้สิทธิและวันซื้อขายสุดท้ายใกล้เคียงกัน) ให้เลือก DW ที่มีค่า Implied Volatility ต่ำที่สุด โดยมีสิ่งที่ต้องระวังคือ นักลงทุนควรหลีกเลี่ยง DW ที่มีสถานะ Out-of-the-money และใกล้หมดอายุ เพราะมีโอกาสสูงนักลงทุนจะเสียเงินลงทุนทั้งหมด (ราคา DW จะลดลงจนเป็น 0 ณ วันซื้อขายสุดท้าย)

    นอกจากนี้ บนเว็บไซต์ Phatrawarrant.com เราก็มีเครื่องมือ Smart Simulation และ Super Search โดยนักลงทุนสามารถใส่ราคาเป้าหมายของสินทรัพย์อ้างอิงและระยะเวลาการลงทุนเป็น Input ในระบบเพื่อคำนวณราคา DW เป้าหมายและประมาณการกำไร/ขาดทุนของนักลงทุนในแต่ละ Scenario นักลงทุนจึงสามารถเปรียบเทียบได้ทันทีว่าภายใต้ Input ที่นักลงทุนกำหนด DW ใดจะให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุด (รายละเอียดวิธีการใช้งานจะกล่าวถึงในตอนต่อไปครับ) 

    Tip:
    1. เลือก DW ที่เหมาะสมกับสไตล์การลงทุนของตนเอง
    2. หลีกเลี่ยง DW ที่มีสถานะ Out-of-the-money และใกล้หมดอายุ

ขั้นตอนที่ 4: หาทางหนีทีไล่ไว้ด้วย

ขั้นตอนสุดท้ายของการวางแผนการลงทุนคือ การบริหารความเสี่ยง (Risk Management)ซึ่งก็คือเราต้องกำหนดจุดตัดขาดทุน (Price Stop Loss) และระยะเวลาที่ต้องตัดขาดทุน (Time Stop Loss) เนื่องจากเราไม่สามารถมั่นใจได้ 100% ว่าทิศทางของราคาสินทรัพย์อ้างอิงจะเป็นไปตามที่เราคาดการณ์ รวมไปถึง ระยะเวลาการลงทุนที่อาจนานกว่าที่คิดจนอาจไม่คุ้มหากต้องถือ DW ต่อไป

การเตรียมแผนบริหารความเสี่ยงไว้ล่วงหน้าและการมีวินัยการลงทุนที่ดีเป็นสิ่งที่สำคัญมากเพราะนักลงทุนหลายๆรายอาจมีคติประจำใจว่า “ไม่ขาย ไม่ขาดทุน” ความเชื่อที่ผิดๆนี้เป็นอันตรายมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนใน DW ที่ผลตอบแทนผันผวนสูงกว่าการลงทุนในสินทรัพย์อ้างอิงโดยตรงและมีต้นทุนถือครอง (Time Decay) ในทุกๆวันที่ผ่านไป


โดยสรุปแล้วเราสามารถวางแผนการลงทุนได้โดยเริ่มจากเลือก ”หุ้นที่ชอบ เลือกตัวที่ใช่” , เลือกใช้ DW ให้ถูกประเภท, เลือก DW ที่เข้ากับสไตล์ และมีวินัยการลงทุนที่ดี การเลือกประเภท DW ก็มีสูตรง่ายๆ คือ Call เมื่อขึ้น, Put เมื่อลง, วิ่งขึ้นวิ่งลง ใช้ Straddle, แต่ถ้ามีนๆงงๆ ก็ไม่ต้องทำอะไร และไม่ซื้อ DW ที่ Out-of-the-Money และใกล้หมดอายุ เพียงเท่านี้เราก็พร้อมที่จะซื้อขาย DW ได้ในทุกสภาวะตลาด

 

คำเตือน:

บทความในเว็บไซต์ https://dw06.kkpfg.com/ นี้จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้และเผยแพร่แก่ผู้ลงทุนเพื่อใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นสำหรับประกอบการศึกษาผลิตภัณฑ์เท่านั้น ไม่ถือเป็นการให้คำแนะนำหรือให้คำปรึกษาใดๆไม่ว่าเรื่องการลงทุน ข้อกฎหมายหรือภาษี ข้อมูลที่ปรากฏในบทความนี้อาจมีทั้งข้อมูลทั่วไป ข้อมูลเฉพาะ ข้อมูลจริงในอดีตหรือข้อมูลที่สมมติขึ้น บริษัทไม่รับรองความถูกต้องครบถ้วนของข้อมูลที่ปรากฏและอาจมีการเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง หรือแก้ไขข้อมูลโดยมิต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า กรุณาติดต่อผู้แนะนำการลงทุนของท่านเพื่อรับข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน ผลการดำเนินงานในอดีตมิได้เป็นเครื่องยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต อนึ่งการลงทุนในผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอาจมีความเสี่ยงสูงและซับซ้อน และอาจมีความแตกต่างจากการลงทุนในหลักทรัพย์อ้างอิงโดยตรงจึงอาจทำให้ราคาผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอาจมีความผันผวนแตกต่างจากราคาหลักทรัพย์อ้างอิง ถึงแม้ว่าผู้ลงทุนจะมีประสบการณ์ในการลงทุนอยู่แล้วอย่างไรก็ตามควรศึกษาทำความเข้าใจถึงความเสี่ยง เงื่อนไข ผลตอบแทนของผลิตภัณฑ์รวมถึงควรพิจารณาอย่างระมัดระวังก่อนตัดสินใจลงทุนและควรตัดสินใจลงทุนด้วยตัวเองทุกครั้ง