บทความ

สาระความรู้ด้านการลงทุนที่หลากหลาย

คำศัพท์ง่ายๆ ที่ควรรู้กับการลงทุนใน Derivative Warrant

  • 21 ต.ค. 64
  • |
  • 1,437

หลังจากที่เราได้ทำความรู้จักกับ Derivative Warrant หรือ DW กันไปแล้ว ก็ถึงเวลามาทำความเข้าใจกับคำศัพท์และค่าทางเทคนิค (Indicators) ต่างๆ กันบ้าง การทำความเข้าใจ Indicators ต่างๆ นั้นมีความสำคัญมากนะครับ เพราะว่าจะช่วยให้เราสามารถเปรียบเทียบและคัดเลือก DW ที่เหมาะกับสไตล์การลงทุนของเราได้เป็นอย่างดีเนื่องจากในปัจจุบันมี DW ซื้อขายในตลาดฯ อยู่เป็นจำนวนมาก โดยบนหุ้นหรือดัชนีอ้างอิง (เรียกรวมกันว่า “สินทรัพย์อ้างอิง”) บางตัวอาจมี Call DW ให้เลือกมากกว่า 10 รุ่นเลยทีเดียว

คำศัพท์และค่าทางเทคนิคที่ควรรู้ ได้แก

  1. Call DW คือ DW ที่โดยทั่วไปจะปรับตัวขึ้นลงตามราคาสินทรัพย์อ้างอิง ดังนั้น ถ้าต้องการทำกำไร ผู้ลงทุนควรจะซื้อ Call DW เมื่อคิดว่าราคาสินทรัพย์อ้างอิงจะปรับขึ้น เพื่อทำกำไรในตลาดขาขึ้น
  2. Put DW คือ DW ที่โดยทั่วไปปรับตัวขึ้นลงสวนทางกับราคาสินทรัพย์อ้างอิง ดังนั้นถ้าต้องการทำกำไร ผู้ลงทุนควรจะซื้อ Put DW เมื่อคิดว่าราคาสินทรัพย์อ้างอิงจะปรับตัวลง เพื่อทำกำไรในตลาดขาลง
  3. ราคาใช้สิทธิ (Exercise Price หรือ Strike Price) คือ ราคาใช้สิทธิที่นักลงทุนมีสิทธิซื้อหรือขายสินทรัพย์อ้างอิง

    Tip: ราคาใช้สิทธิจะใช้เปรียบเทียบร่วมกับราคาสินทรัพย์อ้างอิงจะมีความสำคัญในการบอกว่า DW จะมีสถานะ Moneyness แบบไหน ซึ่งจะอธิบายต่อในหัวข้อ 7 - 9

  4. Time Decay คือ ค่าที่ชี้ให้เห็นว่าเมื่อระยะเวลาผ่านไป 1 วัน ราคา DW จะลดลงไปกี่บาทโดยกำหนดให้ปัจจัยอื่นคงที่

    Tip: นักลงทุนระยะกลางถึงยาว (ระยะเวลาลงทุนตั้งแต่ประมาณ 2 สัปดาห์ขึ้นไป) ควรหลีกเลี่ยงการถือ DW ที่มี Time Decay สูง

  5. Effective Gearing คือ อัตราทด หรือ Effective gearing ซึ่งเป็นค่าที่แสดงถึง % การเปลี่ยนแปลงของราคา DW เมื่อราคาสินทรัพย์อ้างอิงเปลี่ยนแปลงไป 1% โดยกำหนดให้ปัจจัยอื่นๆคงที่ เช่น Call DW ที่มีอัตราทด 5 เท่า หมายความว่า หากราคาสินทรัพย์อ้างอิงเปลี่ยนแปลงไป 1% ราคา DW ควรจะเปลี่ยนแปลงไปประมาณ 5% ในทิศทางเดียวกันกับราคาสินทรัพย์อ้างอิง ส่วนกรณีของ Put DW นั้นค่า Effective gearing จะติดลบซึ่งหมายความว่า % การเปลี่ยนแปลงของราคา Put DW จะเปลี่ยนแปลงไปในทางตรงข้ามกับราคาสินทรัพย์อ้างอิง

    Tip: เมื่อเทียบกับการลงทุนใน DW ด้วยกันเองแล้ว DW ที่มีอัตราทดสูง ก็คือ DW ที่มีความเสี่ยงสูง ในขณะที่ DW ที่มีอัตราทดต่ำ ก็คือ DW ที่มีความเสี่ยงต่ำ*
    * ความเสี่ยงเทียบระหว่าง DW เท่านั้น ไม่ได้เทียบกับการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่น

  6. Delta คือ ค่าที่แสดงถึงมูลค่าการเปลี่ยนแปลงของราคา DW เมื่อสินทรัพย์อ้างอิงเปลี่ยนแปลงไป 1 บาท โดยในกรณี Call DW ค่า Delta จะเป็นค่าบวก แต่หากในกรณีของ Put DW ค่า Delta จะมีค่าติดลบ ยกตัวอย่างเช่น

    • ถ้าค่า Delta ของ Call DW เท่ากับ 0.05 หมายความว่า หากราคาหุ้นแม่เพิ่มขึ้น 1 บาท ราคา Call DW ควรจะเพิ่มขึ้น 0.05 บาท
    • ถ้าค่า Delta ของ Put DW เท่ากับ -0.05 หากราคาสินทรัพย์อ้างอิงเพิ่มขึ้น 1 บาท ราคา Put DW ควรจะลดลง 0.05 บาท

    Tip:
    1. ค่า Delta วัดการเปลี่ยนแปลงของราคา DW เทียบกับการเปลี่ยนแปลงของราคาสินทรัพย์อ้างอิง (บาทต่อบาท) ขณะที่ Effective Gearing วัด % การเปลี่ยนแปลงของราคา DW ต่อ % การเปลี่ยนแปลงของราคาสินทรัพย์อ้างอิง (% ต่อ %)
    2. นักลงทุนที่ต้องการถือ DW ที่ราคาปรับตัวรวดเร็วกับการเปลี่ยนแปลงของราคาสินทรัพย์อ้างอิงควรเลือก DW ที่มีค่า Delta สูง (ค่าเข้าใกล้ 1 หรือ -1 ในกรณีของ Call DW และ Put DW ตามลำดับ)

    *ค่า Delta ที่ปรากฏบนเว็บไซต์ DW06.kkpfg.com เป็นค่า Delta ที่ปรับด้วยการหารอัตราใช้สิทธิแล้ว ดังนั้น นักลงทุนต้องคูณอัตราใช้สิทธิกลับเข้าไปอีกครั้งเพื่อเปรียบเทียบว่าค่า Delta นั้นเข้าใกล้ 1 หรือ -1 หรือไม่

  7. In-The-Money (ITM) หมายถึง
    1. สถานะของ Call DW ที่ราคาสินทรัพย์อ้างอิง มากกว่า ราคาใช้สิทธิ (Spot Price > Exercise Price) หรือ
    2. สถานะของ Put DW ที่ ราคาสินทรัพย์อ้างอิง น้อยกว่า ราคาใช้สิทธิ (Spot Price < Exercise Price)
  8. At-The-Money(ATM)
    หมายถึงสถานะของ Call DW และ Put DW ที่ราคาสินทรัพย์อ้างอิง เท่ากับ ราคาใช้สิทธิ (Spot Price = Exercise Price)
  9. Out -of-The-Money(OTM) หมายถึง
    1. สถานะของ Call DW ที่ราคาสินทรัพย์อ้างอิง น้อยกว่า ราคาใช้สิทธิ (Spot Price < Exercise Price) หรือ
    2. สถานะของ Put DW ที่ ราคาสินทรัพย์อ้างอิง มากกว่า ราคาใช้สิทธิ (Spot Price > Exercise Price)
    เราสามารถสรุปสถานะ Moneyness ได้อย่างง่ายๆ ตามตารางด้านล่างนี้


    * ความเสี่ยงเทียบระหว่าง DW เท่านั้น ไม่ได้เทียบกับการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่น


    Tip:

    นักลงทุนแบบเน้นคุณค่า(Value Investor) ที่มีระยะเวลาการลงทุนนานควรเลือก DW ที่มีลักษณะ In the Money (Time Decay ต่ำ) ในขณะที่นักลงทุนระยะสั้นหรือเก็งกำไรระหว่างวันควรเลือก DW ที่มีลักษณะ Out of The Money (Effective Gearing สูง)


    เมื่อเข้าใจประเภทของ DW ที่เหมาะกับสไตล์การลงทุนของเราแล้ว เราก็จะมาทำความเข้าใจค่าทางเทคนิคที่ใช้เปรียบเทียบ DW เป็นรายตัวเพื่อที่จะช่วยให้เราเลือก DW ที่ดีที่สุดได้ ค่าทางเทคนิคที่นิยมใช้เปรียบเทียบ DW ได้แก่ Implied Volatility และ All in Premium
  10. Implied Volatility คือ ค่าความผันผวนแฝง สำหรับในกรณี DW นั้น บ่งบอกถึงค่าความผันผวน (Volatility) ที่ผู้ออก DW ใช้เป็นตัวแปรเพื่อกำหนดราคา DW ที่ออกเสนอขาย

    Tip:
    1) ค่า Implied Volatility ยิ่งต่ำ ยิ่งดี (หมายความว่า DW นั้นถูกกว่าโดยเปรียบเทียบ)
    2) นักลงทุนควรเปรียบเทียบค่า Implied Volatility ของ DW ที่มีสินทรัพย์อ้างอิงเดียวกัน

  11. All-in premium หมายถึง 1. สำหรับ Call DW: All-in premium เป็น ค่าที่ใช้บอกว่าราคาสินทรัพย์อ้างอิงต้องเพิ่มขึ้นกี่ % จึงจะทำให้ผู้ที่ซื้อ DW คุ้มทุน หากผู้ลงทุนซื้อ DW ไปที่ราคาตลาดและถือจนครบกำหนดอายุ ตัวอย่างเช่น ถ้า PTT06C1611A ซึ่งเป็น Call DW ที่มีค่า All-in premium เท่ากับ 9.59% ก็จะหมายความว่า ถ้าผู้ลงทุนซื้อ PTT06C1611A และถือไปจนครบกำหนดอายุจะได้กำไรก็ต่อเมื่อราคาหุ้น PTT ปรับขึ้นมากกว่า 9.59% นั่นเอง 2. สำหรับ Put DW: All-in premium เป็น ค่าที่ใช้บอกว่าราคาสินทรัพย์อ้างอิงต้องลดลงกี่ % จึงจะทำให้ผู้ที่ซื้อ DW คุ้มทุน หากผู้ลงทุนซื้อ DW ไปที่ราคาตลาดและถือจนครบกำหนดอายุ ตัวอย่างเช่น ถ้า INTU06P1601A ซึ่งเป็น Put DW ที่มีค่า All-in premium เท่ากับ 7.61 % ก็จะหมายความว่า ถ้าผู้ลงทุนซื้อ INTU06P1601A และถือไปจนครบกำหนดอายุจะได้กำไรก็ต่อเมื่อราคาหุ้น INTUCH ปรับลงมากกว่า 7.61% นั่นเอง

    Tip:
    1) ค่า All in Premium ยิ่งต่ำ ยิ่งดี
    2) นักลงทุนประเภทเน้นคุณค่า (Value Investor) มักจะใช้ All-in premium เพื่อเปรียบเทียบความถูก/แพงของ DW
    3) นักลงทุนควรเปรียบเทียบค่า All-im premium ของ DW ที่มีสินทรัพย์อ้างอิงเดียวกันและมีอายุคงเหลือใกล้เคียงกัน


    การทำความเข้าใจคำศัพท์และค่าทางเทคนิคในบทความนี้มีประโยชน์อย่างมากเลยนะครับ โดยเราสามารถเลือกประเภท DW ที่เหมาะกับสไตล์การลงทุนของเราได้เพียงแค่อ่านทำความเข้าใจไม่กี่หน้ากระดาษ ในบทความต่อๆไปเราจะเจาะลึกเว็บไซต์ Phatrawarrant.com ที่มีเครื่องมือคำนวณค่าต่างๆเหล่านี้พร้อมอยู่แล้วซึ่งจะช่วยทำให้การเลือก DW เป็นเรื่องง่าย สมชื่อที่ฝรั่งเค้าเรียกว่า “Plain vanilla option”

 

คำเตือน:

บทความในเว็บไซต์ https://dw06.kkpfg.com/ นี้จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้และเผยแพร่แก่ผู้ลงทุนเพื่อใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นสำหรับประกอบการศึกษาผลิตภัณฑ์เท่านั้น ไม่ถือเป็นการให้คำแนะนำหรือให้คำปรึกษาใดๆไม่ว่าเรื่องการลงทุน ข้อกฎหมายหรือภาษี ข้อมูลที่ปรากฏในบทความนี้อาจมีทั้งข้อมูลทั่วไป ข้อมูลเฉพาะ ข้อมูลจริงในอดีตหรือข้อมูลที่สมมติขึ้น บริษัทไม่รับรองความถูกต้องครบถ้วนของข้อมูลที่ปรากฏและอาจมีการเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง หรือแก้ไขข้อมูลโดยมิต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า กรุณาติดต่อผู้แนะนำการลงทุนของท่านเพื่อรับข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน ผลการดำเนินงานในอดีตมิได้เป็นเครื่องยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต อนึ่งการลงทุนในผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอาจมีความเสี่ยงสูงและซับซ้อน และอาจมีความแตกต่างจากการลงทุนในหลักทรัพย์อ้างอิงโดยตรงจึงอาจทำให้ราคาผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอาจมีความผันผวนแตกต่างจากราคาหลักทรัพย์อ้างอิง ถึงแม้ว่าผู้ลงทุนจะมีประสบการณ์ในการลงทุนอยู่แล้วอย่างไรก็ตามควรศึกษาทำความเข้าใจถึงความเสี่ยง เงื่อนไข ผลตอบแทนของผลิตภัณฑ์รวมถึงควรพิจารณาอย่างระมัดระวังก่อนตัดสินใจลงทุนและควรตัดสินใจลงทุนด้วยตัวเองทุกครั้ง